เศรษฐกิจฐานรากคืออะไร มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร

TU-RAC ชวนอ่านบทความ เศรษฐกิจฐานราก : บทบาทและความท้าทาย โดย นฤมล นิราทร

ในหลายกรณีกิจกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเศรษฐกิจฐานราก เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยซื้อสินค้าจากผู้ค้าในตลาดซึ่งรับสินค้ามาจากเกษตรกรหรือชุมชน วินมอเตอร์ไซค์ให้บริการขนส่งสินค้า ความสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากต่อระบบเศรษฐกิจยืนยันได้จากมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สำหรับหาบเร่แผงลอย งานศึกษาของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภาระบุว่า ในปี 2562 ยอดขายของหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานครสูงถึง 67,728 ล้านบาทต่อปี ตัวเลขนี้มาจากการคำนวณรายได้และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น (MPC) โดยประมาณการผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไว้ที่ 170,000 ราย มีรายได้วันละ 1,000 บาท ทำงานเดือนละ 20 วัน

งานศึกษานี้ยังเสนอว่า ร้อยละ 70 ของรายได้ของผู้ค้าจะถูกใช้จ่ายเพื่อซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิต และกว่าร้อยละ 80 ของวัตถุดิบที่ใช้นั้นผลิตในท้องถิ่น ตัวเลขนี้สะท้อนรายได้ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างชัดเจน

ลึกลงไปในมูลค่า คือ “คุณค่า” เศรษฐกิจฐานรากทำให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานช่วงวัยกลางคนขึ้นไป ที่มีโอกาสจำกัดในการทำงานได้มีงานทำ มีรายได้ ไม่เป็นภาระด้านสวัสดิการสังคม แก้ไขทั้งปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ และยังสร้างผู้ประกอบการด้วย

ในปี 2563 Bio-Thai ระบุว่า การค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีสัดส่วนการจ้างงานถึงร้อยละ 86.3 ในขณะที่การจ้างงานในร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อคิดเป็นเพียงร้อยละ 13.7 ตลาดสดและหาบเร่แผงลอยอาหารยังเป็นพื้นที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหาร

การศึกษาในปี 2561 ระบุว่า หากไม่มีอาหารหาบเร่แผงลอย ชาวกรุงเทพมหานครต้องจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้นเดือนละ 357 บาท คนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูงยังบริโภคอาหารจากหาบเร่แผงลอยเช่นกัน

บทบาทในเชิงวัฒนธรรมก็เป็นทั้ง “มูลค่า” และ “คุณค่า” ที่เรามองข้ามไม่ได้ ภูมิปัญญาด้านอาหารและวิถีการบริโภคเป็น “ทุนวัฒนธรรม” ที่สามารถสร้างมูลค่ามหาศาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ด้วยศักยภาพด้านต่างๆ ข้างต้นของเศรษฐกิจฐานราก

จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศจีนและอีกหลายประเทศ สนับสนุนให้หาบเร่แผงลอยเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

สำหรับรัฐบาลไทย นโยบายสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระปรากฏชัดเจนตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 จนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความตระหนักต่อเปลี่ยนแปลงในกระบวนทัศน์การจ้างงาน ทำให้โอกาสการเป็นลูกจ้างลดลง สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติต่อการทำงาน แรงงานรุ่นใหม่ๆ

รวมทั้งคนชั้นกลางหันมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น จำนวนหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่การบริหารจัดการที่ผ่านมายังไม่สามารถขจัดปัญหาที่เรื้อรัง ทั้งความไม่สะอาด ไม่เป็นระเบียบ คุณภาพสินค้า ปัญหาสุขอนามัย และที่สำคัญที่สุดคือเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร

วิธีการที่กรุงเทพมหานครใช้ในการขจัดปัญหาคือการใช้มาตรการ “คืนทางเท้าให้ประชาชน” ไล่รื้อแผงลอยตั้งแต่ปี 2557 กระนั้นก็ตาม การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กร WIEGO ระบุว่า ในปี 2561 กรุงเทพมหานครยังมีหาบเร่แผงลอยเกือบหนึ่งแสนสี่หมื่นราย

นิมิตหมายที่ดีเกิดขึ้นเมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย ตั้งแต่การทำฐานข้อมูลผู้ค้า หาพื้นที่ประกอบอาชีพ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนและเอกชนมีบทบาทในการดูแลพื้นที่การค้า และส่งเสริมความมั่นคงในอาชีพ

นโยบายเหล่านี้น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่เรื้อรังมานาน หากนำไปปฏิบัติภายใต้กรอบธรรมาภิบาล กำกับให้ผู้ค้าอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่เหมาะสม รับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม รวมถึงพิจารณาประโยชน์ที่รัฐและท้องถิ่นควรได้รับจากการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในพื้นที่สาธารณะ

แต่หากพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์ บนฐานความเข้าใจในพลวัตของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์หลังวิกฤติโรคระบาด บริบทที่แท้จริงของเศรษฐกิจสังคมไทย และศักยภาพของเศรษฐกิจฐานรากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยต้องการวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน นโยบายที่รอบด้าน เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง เพื่อผลักดันให้หาบเร่แผงลอยสร้างทั้ง “มูลค่า” ทางเศรษฐกิจ และ “คุณค่า” ทางสังคมวัฒนธรรมอย่างเต็มที่ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

มาลุ้นกันต่อไปว่า รัฐบาลและกรุงเทพมหานครจะดำเนินการกับปัญหาที่ท้าทายนี้ให้ประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1033040

Share on facebook
Share on Facebook
Share on twitter
Share on Twitter
Share on linkedin
Share on Linkdin
Share on pinterest
Share on Pinterest

TU-RAC

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์