อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต้นแบบแห่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย

ทุกครั้งที่มีแรงกระแทกจากฝากฝ่ายการเมืองไปถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ชื่อของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะถูกหยิบยกขึ้นมาตอกย้ำถึงปรัชญาและจิตวิญญานในการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระที่เป็นมาตรฐานสากล ไม่โอนอ่อนตามอำนาจของฝ่ายการเมือง ไม่เช่นนั้นย่อมเท่ากับการก้าวสู่หายนะทางเศรษฐกิจ และทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของธนาคารแห่งประเทศไทยในสายตาของคนไทยและต่างชาติ
ปลายปี 2496 ขณะอาจารย์ป๋วยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพียง 7 เดือน รัฐบาลที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้อาจารย์ป๋วยพ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการไปเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง นัยว่าเพราะอาจารย์ป๋วยขัดแย้งกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ที่ต้องการซื้อสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเวลานั้นธนาคารทำผิดระเบียบ กำลังจะถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท อาจารย์ป๋วยไม่ยอมยกเว้นค่าปรับตามคำขอของจอมพลสฤษดิ์ และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะซื้อสหธนาคารกรุงเทพ ในที่สุดคณะรัฐมนตรีลงมติปฏิบัติตามข้อเสนอของอาจารย์ป๋วย
อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและควบตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น พยายามเสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่ตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วยเข้ามาเป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทนบริษัทโทมัสเดอลารู ครม.มอบให้อาจารย์ป๋วยพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีคุณภาพการพิมพ์ต่ำ ทั้งมีข่าวคราวในการวิ่งเต้นไม่สุจริต ไม่มีความน่าเชื่อถือพอจะให้พิมพ์ธนบัตร อาจารย์ป๋วยยืนยันให้ใช้บริษัทเดิมพิมพ์ธนบัตรไทยต่อไป หากรัฐบาลเปลี่ยนโรงพิมพ์จะขอลาออกจากราชการ ในที่สุด ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนออาจารย์ป๋วย สร้างความไม่พอใจให้พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างมาก
อาจารย์ป๋วย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 7 ในระหว่างปี 2502-2514 เป็นเวลา 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ตลอดสมัยที่อาจารย์ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นยุคที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาทได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์
อมตะวาจาของอาจารย์ป๋วยที่ว่า “ผู้ว่าการและผู้ใหญ่ในธนาคารชาติจะต้องมีความกล้าหาญพอสมควร คือต้องสามารถที่จะพูดขัดได้ ถ้าอะไรที่ไม่ดีแล้วจำเป็นจะต้องพูดได้ ถ้าไม่มีความกล้าแล้วอย่าเป็นดีกว่า” น่าจะเป็นหลักให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติงานด้วยความกล้าหาญ มั่นคง ไม่ค้อมให้กับความไม่ถูกต้อง หรือความพยายามใดๆ ที่จะฉุดกระชากให้ธนาคารเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่มุ่งแต่คะแนนเสียงระยะสั้น
เชื่อมั่นว่าวิถีแห่งชาวธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอาจารย์ป๋วยเป็นแบบอย่าง จะนำพาให้ปรัชญาของธนาคารที่ว่า “ยืนตรง มองไกล ติดดิน” เป็นความหวังและเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ในสายตาของสาธารณชนชาวไทยเสมอ
บทความโดย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
.
อ้างอิง:

  1. ธนาพล อิ๋วสกุล, บ.ก. 2561 “กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น: ภาพ ชีวิต ความคิด และผลงานอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์”
  2. https://th.wikipedia.org/wiki
Share on facebook
Share on Facebook
Share on twitter
Share on Twitter
Share on linkedin
Share on Linkdin
Share on pinterest
Share on Pinterest

TU-RAC

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์