TU-RAC ชวนอ่านบทความ เรื่อง ไคโตซาน ความปังที่มาจากเปลือก โดย รศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์, รศ.ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ เวสารัช จรเจริญ | สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) ในคอลัมน์ Now and Beyond by TU-RAC ทุกวันพฤหัสบดี ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
.
หลายคนอาจไม่ทราบว่าไคโตซาน ซึ่งเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมหลายชนิดนั้น สกัดมาจากเปลือกกุ้ง กระดองปู และของเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล การนำของเหลือเหล่านี้มาสกัดไคโตซานสามารถเพิ่มมูลค่าได้หลายร้อยเท่า และประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ ควรส่งเสริมการผลิตไคโตซานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ไคโตซานมีคุณสมบัติที่หลากหลาย เช่น ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดักจับไขมัน และจับธาตุโลหะหนัก ทำให้มันมีประโยชน์ทั้งในด้านโภชนาการ การแพทย์ การเกษตร และปศุสัตว์
ในปี 2024 คาดว่าตลาดไคโตซานจะมีมูลค่าถึง 2.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2029 ไคโตซานได้รับการรับรองความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) และถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนัก เสริมสร้างสุขภาพของพืชและสัตว์ และใช้ในผลิตภัณฑ์การเกษตร
นอกจากนี้ ไคโตซานยังสามารถนำมาใช้ในรูปแบบอนุภาคนาโน ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจสูงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อนุภาคนาโนไคโตซานถูกใช้เป็นตัวนำส่งยาและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เนื่องจากสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว มีรายงานการใช้ผ้าพันแผลเคลือบไคโตซานในสงครามเพื่อระงับเลือดและรักษาบาดแผล ในอนาคตยังมีโอกาสในการใช้ไคโตซานเพื่อพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนทั้งสำหรับคนและสัตว์อีกด้วย
แม้ว่าไคโตซานจะมาจากของเหลือในกระบวนการผลิตอาหารทะเล แต่คุณสมบัติที่โดดเด่นและประโยชน์มหาศาลต่อมนุษยชาติ ทำให้ควรได้รับการส่งเสริมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยในระดับนาโน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้คน รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1129910
“ไคโตซาน” ชื่อคุ้นหูจากของใกล้ตัว แต่ประโยชน์มหาศาล
Share on facebook
Share on Facebook
Share on twitter
Share on Twitter
Share on linkedin
Share on Linkdin
Share on pinterest
Share on Pinterest