Nikah Guardian Thailand: นวัตกรรมสังคมเพื่อคุ้มครองการแต่งงานอิสลามจากการค้ามนุษย์ โดย คุณ เยาฮารี แหละตี Founder & Director ARAYA Nikah Planner & Consult Co., Ltd. บทความจาก ArayaWeddingPlanner
.
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าว “ตำรวจพม่ากวาดล้างแก๊งค้ามนุษย์รายใหญ่ได้ในมัณฑะเลย์ ผู้ร่วมขบวนการมีทั้งคนจีนและพม่า ใช้ช่องทางออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก หลอกลวงเด็กหญิงให้ไปแต่งงานกับคนจีน โดยใช้ ประเทศไทยเป็นทางผ่าน” ย้อนกลับไป ในปีเดียวกัน สำนักข่าวแห่งหนึ่ง รายงานข่าว“หญิงไทยเปิดข้อมูลกลุ่มบุคคลทำหน้าที่แม่สื่อ ชวนให้แต่งงานกับชายชาวจีน แลกสินสอด 1 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขมีลูกภายใน 6 เดือน เมื่อทำไม่ได้ตามสัญญากลับถูกทำร้าย-กักขัง ขณะที่ตำรวจเร่งหาตัวแม่สื่อมาสอบปากคำ”
การแต่งงาน และ การค้ามนุษย์ กลับกลายเป็นเรื่องใกล้ชิดในสังคมไทย มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม ตามรายงานของ UNODC ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการค้ามนุษย์ผ่านการแต่งงานระหว่างประเทศ โดยมักเชื่อมโยงกับการแต่งงานที่มีลักษณะการบังคับ การละเมิด หรือการแสวงหาผลประโยชน์เหยื่อ ซึ่งมักจะเป็นผู้หญิงและเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากจน ว่างงาน
วิธีการมีลักษณะคล้ายกันคือ เหยื่อถูกหลอกลวงให้เชื่อว่าพวกเขากำลังจะแต่งงานกับคู่ครองที่มีความปรารถนาดี สัญญาว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในต่างประเทศ แต่เมื่อมาถึงประเทศของสามี พวกเธอกลับถูกแสวงหาผลประโยชน์และไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานใดๆ ถูกนำไปใช้เป็นแรงงานบังคับ หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ
ความสัมพันธ์ ระหว่างการแต่งงานและการค้ามนุษย์ เป็นหัวข้อที่ซับซ้อนเป็นพิเศษ เนื่องจากมีปัจจัยทางวัฒนธรรม ศาสนา และเศรษฐกิจที่ฝังลึกเกี่ยวกับสถาบันการแต่งงาน เช่น กรณีเด็กหญิงมุสลิมวัย 11 ปี ในนราธิวาสแต่งงานเป็นภรรยาคนที่สามกับชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปี ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ในมาเลเซีย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอิสลามของมาเลเซีย ปัญหานี้ทำให้รัฐบาลและภาคศาสนาไทยต้องเข้าไปแก้ไขช่องว่างทางกฎหมายการแต่งงานอิสลามในไทย ซึ่งได้รับการปรับปรุงในภายหลัง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพบปัญหาการแต่งงานในวัยต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาจซ้อนทับกับประเด็นค้ามนุษย์ ซึ่งปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่สามจังหวัด มีรายงานว่าจังหวัดนราธิวาสในปีเดียว มีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์คลอดบุตรในโรงพยาบาลถึง 1,100 คน ในรายงานดังกล่าวมีการกล่าวถึงการถูกบังคับให้แต่งงาน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการข้ามประเทศมาเพื่อแต่งงานกับหญิงคนไทย The Guardian โมฮัมหมัด ลาซิม เล่าว่า ดำเนินธุรกิจ โดยช่วยจัดเตรียมงานแต่งงานข้ามพรมแดนให้กับชายชาวมาเลเซีย เขาทำงานกับเจ้าบ่าวมากกว่า 50 คนต่อปี โดยส่วนใหญ่ต้องการภรรยาคนที่สองหรือสาม, ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศไทย ในจำนวนเหล่านี้เราไม่มีทางรู้เลยว่า เป็นการแต่งงานเพื่อแสวงหาประโยชน์ต่อหญิงไทยหรือไม่อย่างไร? และคู่ไหนบ้างที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นการค้ามนุษย์? เนื่องจาก ปัจจุบันไม่ได้มีระบบตรวจสอบดังกล่าว ที่จะรับมือกับปัญหาลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น การแต่งงานชั่วคราว, การแต่งงานเพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือการค้ามนุษย์
ที่น่าสังเกต การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมที่ซ้อนทับปัญหาการค้ามนุษย์นี้ไม่ได้จำกัดความเสียหายเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดหรือสังคมมุสลิม กรณีตัวอย่างเช่น ข่าว ขบวนการค้ามนุษย์ ใช้การแต่งงานแบบบังหน้า ส่งหญิงสาวคริสเตียนปากีสถานไปเป็นทาสทางเพศในจีน โดยมีเหยื่อมากกว่า 700 คน ซึ่งสะท้อนว่าปัญหานี้เกิดขึ้นหลายภูมิภาคทั่วโลก แตกต่างกันไปแต่ละวัฒนธรรม โดยเฉพาะกับผู้หญิง และเด็กในสังคมที่ยากจน และขาดโอกาส สะท้อนปัญหาทาสยุคใหม่(Modern Salve) ที่กระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง โดยไม่จำกัดศาสนา
อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ภาครัฐและภาคศาสนาในประเทศไทยได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่แฝงมากับการแต่งงานข้ามชาติ โดยภาครัฐมุ่งเน้นการปรับปรุงกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ ขณะที่ภาคการศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมจำนวนมาก มีบทบาทในการให้ความรู้แก่ชุมชน และปรับปรุงข้อกฎหมายอิสลามที่เกี่ยวข้อง
บริษัท อารยา นิกะห์ ฯ ซึ่งเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) เป็นอีกองค์กรหนึ่ง ที่เข้าร่วมแก้ไขปัญหา ด้วยการนำเสนอพันธกิจต่างๆ ที่เชื่อมโยงความร่วมมือกับภาครัฐ และภาคการศาสนา เป้าหมายต้องการช่วยให้ผู้หญิงและเด็กปลอดภัยจากการแต่งงานอิสลามโดยผู้ที่ไม่สุจริต
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการแต่งงานอิสลามระหว่างประเทศ (INCC) และพัฒนากรอบ Nikah Guardian Thailand ขึ้น กรอบดังกล่าวเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยคัดกรองและให้ความรู้หรือส่งสัญญาณให้ฝ่ายหญิงที่เข้าสู่กระบวนการแต่งงานอิสลามข้ามวัฒนธรรมรู้ตัวเองเบื้องต้นว่าอยู่ในความเสี่ยงหรือไม่? รวมทั้ง ยังพัฒนาแนวทางต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้คู่แต่งงาน ให้ความสำคัญในการวางแผนครอบครัว ในบรรยากาศพหุวัฒนธรรมที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้จะมีที่มาจากต่างวัฒนธรรมศาสนา โดยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะลดจำนวนการหย่าร้างด้วยความรุนแรง ซึ่งทางศูนย์คาดหวังที่จะขยายแนวคิดการวางแผนนี้ให้กับคู่แต่งงานทุกศาสนาในประเทศไทย
ปัญหาการค้ามนุษย์ ผ่านการแต่งงาน ในรูปแบบทาสยุคใหม่(Modern Salve) เป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศาสนา รวมทั้งประชาชน ไม่ควรมีใครต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ โดยใช้การแต่งงานเป็นเครื่องมือ เพราะการแต่งงาน ควรเป็น พื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่แสดงความรัก ความเมตตาต่อกัน เป็นพื้นที่สำคัญในการเริ่มต้นครอบครัว ของคนทุกคนในสังคม
.
อ้างอิง
https://mgronline.com/indochina/detail/9670000106040
https://www.thaipbs.or.th/news/content/329466
INTERLINKAGES BETWEEN Trafficking in Persons and Marriage Issue paper 2020 , UNODC
ข่าว BBC : กค 2018 https://www.bbc.com/thai/thailand-45140391
The dark secret of Thailand’s child brides , theguardian.com :2018
BBC news 2019
https://www.cicot.or.th/